การขอจดทะเบียนสมรส

การขอจดทะเบียนสมรส

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 มิ.ย. 2567

| 13,126 view

marrige2022  

1. ขอบเขตการให้บริการ
    สถานกงสุลใหญ่ฯ ณ นครลอสแอนเจลิส ให้บริการจดทะเบียนสมรสสำหรับคนไทยที่พำนักใน 13 รัฐในเขตอาณา คือ
    1) แคลิฟอร์เนีย  2) โคโลราโด    3) เนวาดา       4) นิวเม็กซิโก    5) มอนทานา    6) ยูทาห์   7) วอชิงตัน
    8) ไวโอมิง         9) อะแลสกา   10) แอริโซนา   11) ออริกอน     12) ไอดาโฮ     13) ฮาวาย
    (รวมทั้ง เกาะกวมและดินแดนของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก)

2. หลักเกณฑ์
     2.1  คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
     2.2  หากคู่สมรสฝ่ายชายไม่ได้มีสัญชาติไทย ฝ่ายชายจะต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสด  
     2.3  คู่สมรสจะต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์
            หากอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ บิดาและมารดาจะต้องลงชื่อให้ความยินยอม
     2.4  หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นนักเรียนในความดูแลของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา
            หรือของสำนักงานอื่นของส่วนราชการไทยจะต้องมีหนังสืออนุมัติให้
            จดทะเบียนสมรสจากสำนักงานต้นสังกัดมาแสดง
     2.5  หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน
            – ฝ่ายที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนแล้ว จะต้องมีใบสำคัญการหย่ามาแสดง
     2.6  หากฝ่ายหญิงเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน (หย่ากับคู่สมรสเดิมแล้ว)
            2.6.1  ชื่อสกุลในหนังสือเดินทางและทะเบียนราษฎรต้องเปลี่ยนเป็นชื่อสกุลเดิมก่อนสมรส
                      ก่อนที่จะยื่นคำร้องขอจดทะเบียนใหม่ (สำหรับบุคคลที่สมรสก่อนวันที่ 5 มิถุนายน 2546)
            2.6.2  จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
                      1)  ได้คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น หรือ
                      2)  มีใบรับรองแพทย์รับรองว่าไม่ได้มีครรภ์ หรือ
                      3)  มีคำสั่งศาลไทยให้สมรสได้
     2.7 คำนำหน้าชื่อหญิงไทยหลังการสมรส 
           หญิงไทยที่จดทะเบียนแล้ว จะสามารถใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย
           (ในต่างประเทศคือเจ้าหน้าที่กงสุล) ทั้งนี้ เป็นไปตามความในพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 

     2.8 การใช้ชื่อสกุลหลังการสมรส

  • ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ชื่อสกุลหลังการสมรส ดังนี้

             (1) คู่สมรสสามารถใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมจากฝ่ายนั้นแล้ว (ไม่สามารถควบชื่อสกุลทั้งสองเข้าด้วยกันได้)
             (2) คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้ การตกลงดังกล่าวนี้ จะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ และคู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงข้อความในวรรคหนึ่งภายหลังก็ได้
             (3) เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายที่ใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน
             (4) เมื่อการสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย ให้ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นได้ต่อไป แต่เมื่อจะสมรสใหม่ ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

  • ในระหว่างการจดทะเบียนสมรส คู่สมรสต้องแจ้งต่อนายทะเบียน (เจ้าหน้าที่กงสุล) ว่าตนประสงค์จะใช้ชื่อสกุลเดิมของตน หรือชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งนายทะเบียนจะบันทึกไว้บนหน้าบันทึกของทะเบียนสมรส

      2.9 การดำเนินการภายหลังการสมรส

  • หลังจดทะเบียนสมรส หญิงไทยต้องไปยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการบุคคล (คำนำหน้าชื่อ ชื่อ สกุล) ในเอกสารทะเบียนราษฎร (ทะเบียนบ้านที่ตนมีชื่ออยู่ในประเทศไทย บัตรประจำตัวประชาชน และหนังสือเดินทาง) ให้เรียบร้อย
  • หากไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับไปดำเนินการในประเทศไทยด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนได้ โดยทำเป็นหนังสือมอบอำนาจผ่านการรับรองจากเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ
  • การทำบัตรประชาชนใหม่ ผู้ร้องจำเป็นต้องไปดำเนินการด้วยตนเองที่อำเภอที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่สามารถมอบอำนาจให้กระทำการแทนกันได้ จึงควรต้องพิจารณาดำเนินการเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย

     2.10  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 1459 กำหนดว่า "การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกันหรือฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนด ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้" 

              ดังนั้น หากท่านได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายสหรัฐฯ แล้ว ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย
              แต่ขอให้ท่านนำทะเบียนสมรสสหรัฐฯ มารับรองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ และนำไปดำเนินเรื่อง บันทึกฐานะแห่งครอบครัว (คร. 22) 
              ณ สำนักงานเขต/อำเภอในไทยที่ท่านมีภูมิลำเนาอยู่

3.  เอกสารที่ต้องใช้
     3.1  หนังสือเดินทาง และบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุการใช้งาน ของคู่สมรสทั้งสองท่าน (ฉบับจริง) 
     3.2  ทะเบียนบ้าน ของคู่สมรสทั้งสองท่าน -- กรณีไม่มีต้นฉบับ โปรดนำส่งสำเนา 
     3.3  US ID หรือ US Driver License ของคู่สมรสทั้งสองท่าน (ถ้ามี)
     3.4  บัตรประชาชนไทยของพยาน 2 ท่าน 
            ทั้งนี้ ในวันที่จดทะเบียนสมรส พยานทั้งสองท่านต้องเข้ามาลงนามในเอกสารพร้อมกัน
     3.5  เอกสารประกอบอื่น ๆ (หากมี) ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์

4. ค่าธรรมเนียม
    การขอจดทะเบียนสมรสไม่มีค่าธรรมเนียม

5. ขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนสมรส
     5.1  กรอกคำร้อง Online คลิกที่นี่
     5.2  เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำร้อง Online โดยการนัดหมายขอจดทะเบียนสมรสต้องทำล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการ
     5.3  รอการยืนยันวันนัดจากเจ้าหน้าที่ทางอีเมล (โปรดตรวจสอบใน Spam หรือ Junk mail folder)
     5.4  วันจดทะเบียนสมรส คู่สมรสทั้งสองฝ่ายพร้อมพยานจะต้องมาด้วยตนเอง ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ตามวัน-เวลานัด
             โดยนำเอกสารตัวจริงตามรายการข้างต้นมาแสดง
             ซึ่งภายหลังการจดทะเบียนสมรสแล้ว
             คู่สมรสจะได้รับใบสำคัญการสมรสในวันเดียวกัน

6.  ที่อยู่ / สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    Legalization Section 
    Royal Thai Consulate – General
    611 N. Larchmont Boulevard, 2nd Fl., 
    Los Angeles, CA 90004

    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม add LINE@ สถานกงสุลใหญ่ฯ คลิกที่ ->  line-add-friend  


KS/2/14/23