วันที่นำเข้าข้อมูล 21 เม.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 เม.ย. 2566
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้จัดสัมมนาคาร์บอนเครดิตออนไลน์ในหัวข้อ “เพาะปลูกอย่างไรให้ได้เครดิต?” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้สนใจ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและบริษัทเอกชนเกี่ยวกับโอกาส การดำเนินการเพื่อให้ได้รับคาร์บอนเครดิต และแนวโน้มในอนาคต และเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และผู้แทนจากบริษัท Spiro Carbon จากรัฐยูทาห์ มาร่วมเป็นวิทยากร
ในช่วงการสัมมนา นายต่อ ศรลัมพ์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้กล่าวเปิดการสัมมนาว่าเล็งเห็นพัฒนาการของคาร์บอนเครดิตเป็นโอกาสทางธุรกิจของประชาชน การเตรียมการของภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และยังเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ที่ผ่านมา จากนั้น น.ส. นารีรัตน์ พันธ์มณี ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ.) ได้กล่าวถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายสำคัญที่ไทยต้องบรรลุภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลนโยบายคาร์บอนเครดิตของไทย ต่อมา ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต อบก. ได้บรรยายรายละเอียดโครงการคาร์บอนเครดิตในไทย รวมถึงขั้นตอนการพัฒนาโครงการไปจนถึงการสมัครเพื่อขึ้นทะเบียนกับ อบก. และตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จในไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและตรวจสอบโครงการคาร์บอนเครดิตในไทย และนาย David Rockwood ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารรายได้ของบริษัท Spiro Carbon ได้แบ่งปันประสบการณ์และโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำการเกษตรเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต ประสบการณ์จากการดำเนินการในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการขอรับการสนับสนุนจากบริษัทฯ ก่อนที่จะไปสู่ช่วงเสวนาที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้สอบถามคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลายโดยตรงกับวิทยากร ทั้งนี้ สามารถรับชมย้อนหลังได้ทางช่อง Youtube ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่ https://youtu.be/TL_pei-aj_c
ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งคือ ภาคเกษตรของไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 2 (รองจากภาคพลังงาน) โดยกว่าครึ่งมาจากจากการปลูกข้าว ดังนั้น ในช่วงเสวนาที่ประชุมจึงได้เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรได้มาก ในการนี้ นาย Rockwood ได้กล่าวถึงวิธีการทำนาแบบ “เปียกสลับแห้ง” ที่จะลดระยะเวลาการขังน้ำในพื้นที่นาซึ่งจะลดการสะสมของก๊าซมีเทนในแปลงนา โดยบริษัท Spiro Carbon ได้ทดลองแล้วว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดก๊าซมีเทนในแปลงนาลงได้ถึงร้อยละ 70 จากที่ได้ร่วมโครงการกับชาวนาในประเทศไทย และสามารถนำไปยื่นเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตได้
การสัมมนาฯ ได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนอย่างมากจนมีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 437 คน จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และกลุ่มเกษตรจากทั่วประเทศไทย ส่งผลให้ยอดผู้เข้าร่วมสัมมนาในระบบ Zoom และยอดผู้เข้าชมผ่าน Facebook Live ของสถานกงสุลใหญ่ฯ มีมากถึงกว่า 4,000 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจในกระแสคาร์บอนเครดิตอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรต้องมีการสื่อสารให้เข้าใจในการนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอขอบคุณวิทยากรทั้ง 3 ท่าน และผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ทุกท่าน พร้อมนี้ ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยายของวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ตามไฟล์ที่แนบมาพร้อมนี้
เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ ช่วงเช้า 9:00-12:00 น. ช่วงบ่าย 13.00 - 16.00 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)